สื่อนอกตีข่าว "พ.ต.อ.ธิติสรรค์"-ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ปมตำรวจทุจริต

สังคม
26 ส.ค. 64
12:51
936
Logo Thai PBS
สื่อนอกตีข่าว "พ.ต.อ.ธิติสรรค์"-ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ปมตำรวจทุจริต
สื่อต่างประเทศรายงานข่าว พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และพวก ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆาตกรรมผู้ต้องหาคดียาเสพติด ผู้เชี่ยวชาญชี้ไทยเผชิญปัญหาทุจริตตั้งแต่ผิดกฎจราจรถึงอาชญากรรมร้ายแรง "คดีนี้ไม่ใช่กรณีแรก และไม่น่าจะเป็นกรณีสุดท้าย"

วันนี้ (26 ส.ค.2564) คดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และพวก กลายเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆาตกรรมผู้ต้องหาคดียาเสพติด และมีการขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับ กลายเป็นประเด็นร้อนที่คนไทยจับตามอง ขณะเดียวกันยังได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศด้วย

สำนักข่าว washingtonpost สื่อดังของสหรัฐอเมริกา รายงานเกี่ยวกับคดีนี้ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกตั้งข้อหาร่วมกันฆาตกรรมผู้ต้องหาคดียาเสพติด หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิด สร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง

แม้ข้อกล่าวหาเรื่องตำรวจใช้ความรุนแรง หรือการคอร์รัปชัน ไม่ใช่เรื่องที่พบได้ยากในประเทศไทย แต่คดีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการใช้กำลังกับผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ออกมาเคลื่อนไหวในกรุงเทพมหานคร ยิ่งเพิ่มทวีความไม่พอใจให้ประชาชนเป็นอย่างมาก

ขณะที่ washingtonpost ได้อ้างถึงคำสัมภาษณ์ของนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ฮิวแมนไรท์วอตช์ ที่ระบุว่า คดีตำรวจทรมานและฆาตกรรมผู้ต้องหาเป็นเรื่องที่น่าตกใจ "แต่นี่ไม่ใช่กรณีแรก และไม่น่าจะเป็นกรณีสุดท้าย" จนกว่าจะมีการสอบสวนและดำเนินคดีอย่างจริงจัง

ขณะที่ฟากฝั่งเอเชียก็มีปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกัน อย่างเพจเฟซบุ๊ก ฮอกไกโดแฟนคลับ-Hokkaidofanclub ก็ได้เผยแพร่ภาพถ่ายหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นรายการข่าวในประเทศญี่ปุ่น กำลังรายงานดคี พ.ต.อ. พร้อมระบุข้อความว่า "ญี่ปุ่นลงข่าวตำรวจระดับผู้กำกับของไทยทำร้ายผู้ต้องหาจนเสียชีวิตและมีการเรียกเงิน 6.6 ล้านเยน เพื่อแลกกับการปล่อยตัว วันนี้เปิดทีวีเจอข่าวไทยโดยบังเอิญ tokaitv"

 

ขณะที่สำนักข่าว The South China Morning Post (SCMP) ก็ได้รายงานข่าวนี้เช่นกัน โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ในคลิปวิดีโอที่เป็นไวรัลในประเทศไทย กรณีตำรวจใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาและทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ท่ามกลางการประณามของชาวเน็ตไทยต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่จนเกิดแฮชแท็ก #ผู้กำกับโจ้ ในทวิตเตอร์ 

วัฒนธรรมความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ ปชช.ของตำรวจและกองทัพเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างฝังรากลึก ไม่เคยถูกรื้อถอนและแก้ไข

 
SCMP ยังได้หยิบยกทวีตของ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข่าว ขณะเดียวกัน SCMP ยังได้เชื่อมโยงคดีนี้ถึงคดีของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่เสียชีวิตด้วยน้ำมือของตำรวจในสหรัฐฯ 

พอล แชมเบอร์ส นักวิจัยสถาบันวิจัยสันติภาพแฟรงค์เฟิร์ต (PRIF) และผู้เชี่ยวชาญด้านบริการความมั่นคงของไทย ระบุว่า ตำรวจไทยที่ดีก็มี แต่ตำรวจที่คอร์รัปชันก็มีให้เห็นเช่นกัน เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยกว่า 200,000 นายของไทยได้รับค่าตอบแทนต่ำจนทำให้มีชื่อเสียงในการเรียกเงิน "ค่าน้ำชา" สำหรับความผิดจราจรเล็กน้อยไปจนถึงอาชญากรรมร้ายแรง

นักวิจัยสถาบันวิจัยสันติภาพแฟรงค์เฟิร์ต ยังระบุอีกว่า ตำรวจไทยกำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาคอร์รัปชันที่ถูกรุมเร้าด้วยเรื่องอื้อฉาว ตั้งแต่การจัดการกับคดีของ "บอส วรยุทธ อยู่วิทยา" ทายาทกระทิงแดง ผู้ต้องหาคดีขับรถเฟอร์รารี่ชนตำรวจเสียชีวิต ซึ่งผู้ก่อเหตุได้หลบหนีไปต่างประเทศแล้ว ขณะที่ตำรวจหลายนายยังต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับการแก้ไขคดีดังกล่าวอยู่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ดาบตำรวจ" เข้ามอบตัวคดีร่วมกันฆ่าผู้ต้องหาคดียาเสพติด

จเรตำรวจยืนยันไม่ปกป้องคนผิด รอตรวจสอบเอาผิดวินัย ตร.คนอื่นเพิ่ม

คุมตัว 5 อดีตตำรวจฝากขังคดีซ้อมตาย-ค้านประกันตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง