ฝากขัง "ครู-พี่เลี้ยง" ร.ร.สารสาสน์ ทำร้ายนักเรียน

อาชญากรรม
6 ต.ค. 63
15:56
1,850
Logo Thai PBS
ฝากขัง "ครู-พี่เลี้ยง" ร.ร.สารสาสน์ ทำร้ายนักเรียน
ตำรวจควบคุมตัวกลุ่มครูและพี่เลี้ยง โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ไปยื่นขออำนาจศาล เพื่อผัดฟ้องและฝากขัง หลังเข้ามอบตัวและถูกแจ้งข้อหาฐานทำร้ายผู้อื่นและกระทำทารุณกรรมเด็ก

วันนี้ (6 ต.ค.2563) ตำรวจภูธรชัยพฤกษ์คุมตัวครูแพรว ครูประจำชั้นเตรียมอนุบาลห้องเอ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ที่ปรากฎภาพ ในกล้องวงจรปิด ตีขาเด็กวัย 2 ขวบ ไปขออำนาจศาลแขวงจังหวัดนนทบุรี เพื่อผัดฟ้องและฝากขัง หลังจากครูแพรวเข้ามอบตัว และถูกตำรวจแจ้งข้อหาดำเนินคดีใน 2 ข้อหา คือ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น และกระทำทารุณกรรมเด็ก


นอกจากครูแพรวแล้วยังมี ครูและพี่เลี้ยงของโรงเรียนอีก 8 คน ที่ตำรวจทะยอยควบคุมตัว ไปยื่นขออำนาจศาลเพื่อผัดฟ้อง และฝากขังในวันนี้เช่นกัน โดยบางคนเข้ามอบตัว และถูกตำรวจแจ้งข้อหาดำเนินคดีไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่มี 2 คน คือพี่เลี้ยงกิ๊ฟ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงชั้นอนุบาล 1 ห้องเอ และพี่เลี้ยงมิ้ว พี่เลี้ยงชั้นอนุบาล 1 ห้องจี ที่เพิ่งเข้ามอบตัวเมื่อช่วงเช้า โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างรอการประกันตัว

 

เตือนถุงดำครอบหัวเด็ก เสี่ยงกระทบจิตใจจนโต

พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า จากข่าวที่มีคลิปคุณครูเอาถุงดำครอบศีรษะเด็กนั้น บางคนบอกว่าอาจเป็นการหยอกเล่นของผู้ใหญ่ ไม่ได้จะทำอะไรเด็ก อย่างไรก็ตาม ถึงจะบอกว่าทำเพื่อหลอกหรือหยอกเล่น หรือเพื่อขู่ให้เชื่อฟังบางอย่าง หรืออะไรก็ตามที แต่ถ้าทำให้เด็กรู้สึกกลัว ก็ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจได้

แถมบ่อยๆ ที่เราพบเห็นว่า ความกลัวของเด็กกลายเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ใช้แกล้งหยอกเย้าเด็กด้วยความสนุกสนาน หรือคิดว่าควรจะขู่ให้กลัวเด็กจึงจะเชื่อ แต่จริงๆ แล้ว ความกลัวมีความหมายเสมอ ไม่มีใครชอบความรู้สึกกลัวหรอก

ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ยิ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับ “เด็กเล็กๆ” ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวหากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง


ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ (fantasy) มาก ความมีจินตนาการของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้ เด็กเล็กๆ จึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล 

แม้จะไม่มีเหตุผลนัก แต่ความกลัวของเด็กก็มีอยู่จริง และมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า

หยุดแกล้งหรือหยอกให้เด็กกลัว จนทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่เด็กรักและเชื่อใจ และถ้าอยากให้เขาเป็นเด็กดีให้เขาเชื่อฟัง อยากเล่นกับเขา อย่าใช้วิธีข่มขู่หรือหยอกเล่นให้เด็กกลัวเลย เล่นกับเขาดีๆ หรือบอกเขาตรงๆ จะดีกว่า

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครู-พี่เลี้ยง ร.ร.สารสาสน์ ทำร้ายนักเรียน มอบตัวแล้ว 9 คน

ตร.ออกหมายเรียกครูพี่เลี้ยงทำร้ายเด็ก ผิด 2 ข้อหา

ไล่ออก! 4 ครูทำร้ายนักเรียน - ตร.จ่อออกหมายเรียก

แจ้งความดำเนินคดีเพิ่มครูใช้ถุงดำ-จับกดเด็ก 2 ขวบ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง