“โปร่งใส ตรวจสอบได้ สูตรลัดขนานใหม่เพื่อท้องถิ่นไทยเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

10 มี.ค. 55
04:19
9
Logo Thai PBS
“โปร่งใส ตรวจสอบได้ สูตรลัดขนานใหม่เพื่อท้องถิ่นไทยเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

กรุงโซลประเทศเกาหลีใต้มีประชากรราว  9.7 ล้านคน การให้บริการสาธารณะในกรุงโซลของประเทศเกาหลีใต้เป็นไปอย่างทั่วถึง ถึงกระนั้นก็ตามการให้บริการดังกล่าวก็ยังมีข้อผิดพลาดในหลายส่วนตามมาเช่นกัน ประชาชนในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ได้เล็งเห็นว่าปัญหาดังกล่าวจะปล่อยให้เป็นการให้บริการของภาครัฐที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านเลยไปเหมือนสายลมไม่ได้

ประชาชนในเขตกรุงโซลจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนขนาดย่อมเพื่อคอยตรวจตราการให้บริการของรัฐในทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน ระบบสวัสดิการ หรือแม้กระทั่งการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อกลุ่มภาคประชาชนประสบพบเจอกับปัญหาก็จะรีบช่วยกันแก้ไข ร้องเรียน และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนกลุ่มเล็ก ในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าโดย ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาในหัวข้อ “ท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยการทำงานที่โปร่งใส” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
ภายใต้เวทีงานฟื้นฟูพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 2 ได้ร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาเป็นบทเรียนให้กับพื้นที่ของตนเอง

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ บอกเล่าเพิ่มเติมว่าไม่ใช่เฉพาะแค่กรุงโซลในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้นที่มีกระบวนการทำงานของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง แต่ที่กรุงวอชิงตันดีซีประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีกระบวนการทำงานของภาคประชาชนที่คอยตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นตนเองอย่างเข้มแข็ง โดยในทุกๆ สัปดาห์ประชากรของเมืองนี้จะเข้ามาร่วมประชุมโต๊ะกลม เพื่อบอกเล่าถึงปัญหาในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อสรุปให้กับเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของเมืองช่วยกันแก้ไขซึ่งผลของการประชุมทุกครั้งแทบไม่มีการปฏิเสธในการแก้ปัญหาจากเจ้าหน้าที่รัฐเลยแม้แต่ครั้งเดียว

“ ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างความโปร่งใสในภาครัฐเป็นเรื่องที่สำคัญ และหัวใจสำคัญของการจัดการเรื่องความโปร่งใส ก็คือ เราต้องจัดการให้เกิดความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในท้องที่ซึ่งต้องมีการจัดการอยู่ต่อเนื่องอย่างตลอดเวลา  ซึ่งความโปร่งใสนั้นจะต้องมีจุดเริ่มต้น และจะต้องมีการจัดการให้เป็นระบบเหมือนกันหลายๆ กรณีที่ได้ยกตัวอย่าง ผมอยากบอกว่าการบริหารท้องถิ่นนั้นอย่ามองเพียงแค่วิธีการเดียวตามระบบราชการ เพราะจะทำให้เกิดความเสื่อมถอยของระบบ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาการทำงานของตนเองให้สอดคล้องกับประชาชนด้วยระบบที่หลากหลายและเหมาะสม เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

อย่างไรก็ตามการจัดงานในครั้งนี้ยังได้มีตัวแทนจากเครือข่ายท้องถิ่นที่ทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของความโปร่งใส องค์การบริหารส่วนท้องที่หลายแห่งก็ได้รางวัลติดไม้ติดมือมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเทคนิคและขั้นตอนในการดำเนินงานนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องที่หลายแห่งสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรของตนเองได้

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพรชบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งท้องถิ่นที่ได้รับการบอกเล่าถึงการทำงานอย่างด้วยความโปร่งใส และมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยการันตีความโปร่งใสด้วยรางวัลจากหลากหลายหน่วยงาน

นายธีรศักดิ์ พานิชย์วิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อกล่าวถึงการทำงานของท้องถิ่นตนเองให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟังว่า “การทำงานในท้องถิ่นของผมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเพราะใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นการร่วมกันทำงานของประชาชนในท้องถิ่นทุกคน ท้องถิ่นของเราเห็นว่าการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จะทำให้พื้นที่ของพวกเรานั้นก้าวไปได้ไกล เราเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของเราโดยการดึงความร่วมมือจากกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน

โดยการให้องค์ความรู้ และปรับโครงสร้างการทำงานให้กับกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งให้เครื่องมือในการพัฒนาท้องที่ให้กับกำนัน และผู้ใหญ่บ้านด้วย นอกจากนี้เรายังได้ดึงความร่วมมือจากโรงเรียน สถานีอนามัย และวัด เช่น การเปิดเวทีสร้างความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่
ใครต้องการพัฒนาตนส่วนไหนอย่างไรเราก็จะลงไปช่วยกันอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญที่พวกเราเน้นมากที่สุดคือเราต้องสร้างองค์กรภาคสังคมในท้องที่ของเราให้เติบโตขึ้นเพื่อมาช่วยในการทำงานของเราเยอะๆ
เมื่อภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยกันก็จะเกิดการมีส่วนร่วม และความโปร่งใสไปโดยปริยาย” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพรชบุรีแล้ว ที่ภาคเหนืออย่าง ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้พื้นที่อื่น  เพ็ญภัคร รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีหญิง ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้บอกเล่าถึงกระบวนการทำงานในท้องถิ่นของเธอเองให้ผู้เข้าร่วมเสวนารับฟังว่า “เป้าหมายใหญ่ในพื้นที่ของพวกเรา คือเราต้องการเน้นให้ผู้คนในท้องที่ของเรามีจิตสำนึกสาธารณะ  และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรี ซึ่งทุกๆ อาทิตย์เราจะมีการประชุมลานปัญญากันเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของเราเพื่อรวบรวมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องที่แก้ไขต่อไป ซึ่งการแก้ไขนั้นกระบวนการภาคประชาชนในท้องที่ของเราที่นำเสนอปัญหามาในการประชุมเวทีลานปัญญานี้ก็สามารถตรวจสอบได้” นายกเทศมนตรีหญิง ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปางกล่าว

หลากหลายตัวอย่างที่ถูกนำเสนอในเวทีเสวนาในครั้งนี้เป็นแค่บันได้ก้าวแรกที่ท้องถิ่นหลายๆ แห่งจะได้ร่วมเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดและสร้างสรรค์ให้ท้องถิ่นของตนเองนั้นเติบโตเป็นชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างยั่งยืน หากแต่บันได้ก้าวต่อไปคือการนำไปปฏิบัติด้วยความหนักแน่นและเข้มแข็งอย่างแท้จริง เพราะท้ายที่สุดแล้วหากการปฏิบัติตามประเด็นดังกล่าวนี้เกิดผล บุคคลที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือตัวเรา และพ่อแม่พี่น้อง ลูกหลาน ที่อยู่ในชุมชนของเรานั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง