ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่หลังสึนามิ ... ผลต่อการลงทุนในไทย

เศรษฐกิจ
10 มี.ค. 55
05:18
15
Logo Thai PBS
ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่หลังสึนามิ ... ผลต่อการลงทุนในไทย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น เป็นแรงผลักดันให้โรงงานญี่ปุ่นมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตออกมานอกประเทศมากขึ้นขณะที่ยังรักษาศูนย์กลางด้านวิจัยและพัฒนาไว้ที่ญี่ปุ่น ซึ่งแนวโน้มที่น่าจับตามองคือ การให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นแก่ประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ที่มีความพร้อม ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของญี่ปุ่นหลังเหตุการณ์สึนามิ (เมษายน-ธันวาคม 2554) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (ร้อยละ 105 (YoY)) ส่งผลให้เงินลงทุนในต่างประเทศรวมทั้งปีแตะระดับ 9.11 แสนล้านเยน สูงเป็นอันดับสองรองจากปี 2551 ที่มีการลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ (ที่ 13.2 ล้านล้านเยน) โดยการลงทุนในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นมากคือในอินโดนีเซีย (เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 314 (YoY)) ขณะที่การลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แต่กว่าครึ่งเป็นการลงทุนที่เข้ามาเพื่อบูรณะและฟื้นฟูสายการผลิตจากเหตุอุทกภัย จึงอาจไม่สะท้อนการดึงดูดการลงทุนของไทยที่เพิ่มขึ้น

 นอกจากนั้น ผลจากภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นเผชิญในปี 2554 ยังทำให้แนวโน้มภาคธุรกิจญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น และก่อให้เกิดแนวโน้มการกระจายฐานการผลิตและแสวงหาฐานการผลิตสำรองมากขึ้น ซึ่งคงต้องยอมรับว่า อาจทำให้การลงทุนของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมหลักในไทย เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มกระจายไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในเครือข่ายการผลิตของญี่ปุ่น อาจจำเป็นต้องแสวงหาโอกาสทำธุรกิจเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนอกประเทศไทย เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอาจขยายการลงทุนที่เชื่อมโยงกับฐานการผลิตของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในอินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจสร้างระบบการบริหารความเสี่ยง เช่น การหาเครือข่ายโรงงานพันธมิตรเพื่อเป็นโรงงานสำรอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของบริษัทญี่ปุ่นในการใช้ไทยเป็นฐานลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ขณะเดียวกัน ภาครัฐ อาจส่งเสริมการพัฒนาในอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และโลจิสติกส์ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย นอกจากนั้น ภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่น ด้วยการวางแผนบริหารจัดการภัยพิบัติที่เป็นรูปธรรมและใช้ได้ทันการณ์ และควรเพิ่มศักยภาพของไทยในด้านเทคโนโลยี และเร่งสร้างแรงงานที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชั้นสูง รวมไปถึงควรเร่งส่งเสริมการลงทุน และลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ เพื่อให้ไทยสามารถรักษาสถานะเป้าหมายการลงทุนหลักในอาเซียน ท่ามกลางกระแสการย้ายฐานการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นออกนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง