เกษตรฯเร่งคุม "หนอน-แมลงหัวดำมะพร้าว" หวั่นกระทบอุตฯ ทำอาหารแพงซ้ำอีก

สิ่งแวดล้อม
24 มี.ค. 55
08:35
43
Logo Thai PBS
เกษตรฯเร่งคุม "หนอน-แมลงหัวดำมะพร้าว" หวั่นกระทบอุตฯ ทำอาหารแพงซ้ำอีก

ผู้ประกอบการหวั่นผลผลิตมะพร้าวลดกระทบอุตสากรรมต่อเนื่อง เหตุ “หนอนหัวดำ-แมลงดำหนาม” ระบาดลา ชาวสวนชิ่งหันปลูกยาง-ปาล์มแทน เกษตรฯเร่งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเร่งด่วน เตรียมพร้อมรับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากปีนี้มะพร้าวติดผลดกมาก ทำให้ราคาตกต่ำลงทั้งมะพร้าวผลแก่และมะพร้าวอ่อน โดยมะพร้าวผลแก่ราคา ประมาณ 10 บาท/ผล มะพร้าวอ่อนหน้าสวน 1.50 บาท/ผล ขณะที่โรงงานผลิตน้ำมะพร้าวกระป๋องรับซื้อ ผลละ 3 บาท ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ที่มะพร้าวอ่อนราคา 12-15 บาท/ผล มะพร้าวผลแก่ 25 บาท/ผล  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการและโรงงานแปรรูปมะพร้าวเกรงว่า ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญทั้งหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า  2.49 แสนไร่ จากเนื้อที่ให้ผลผลิตทั้งประเทศ ประมาณ 1.29 ล้านไร่ อาจทำให้ปริมาณผลผลิตมะพร้าวลดลงมากและต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

พื้นที่ปลูกมะพร้าวของไทยมีแนวโน้มลดลง เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการดูแลรักษาสวน  ขณะที่เกษตรกรหลายรายได้โค่นต้นมะพร้าวปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งทำให้ผลผลิตมะพร้าวไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และกระทบอุตสาหกรรมต่เอนื่องในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมกะทิสำเร็จรูป และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์(Virgin Coconut Oil) เป็นต้น ซึ่งปี 2555 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่า  ประเทศไทยจะมีผลผลิตมะพร้าวผลประมาณ 1.10 ล้านตัน

“ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว โดยได้พิจารณาที่จะนำเข้าแตนเบียน Goniozus nephantidis ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำจากประเทศศรีลังกาหรืออินเดีย เพื่อนำมาทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวในประเทศไทยเร็วๆ นี้ เพื่อลดพื้นที่ระบาดก่อนที่จะขยายวงกว้างขึ้น และลุกลามไปสู่พืชชนิดอื่น อาทิ ตาลโตนด อินทผลัม ปาล์มประดับต่างๆ และกล้วยด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

นายสมชาย วัฒนโยธิน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้เร่งจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวโดยเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยมี 2 กิจกรรม คือ การผลิตพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีเพื่อรองรับความต้องการเกษตรกรที่จะนำไปปลูกทดแทนต้นอายุมากและสวนเสื่อมโทรม โดยมี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สวีลูกผสม1 ชุมพรลูกผสม2 ชุมพรลูกผสม60 พันธุ์กะทิลูกผสมชุมพร 84-1 และกะทิลูกผสมชุมพร 84-2 ซึ่งปีนี้สามารถผลิตได้กว่า 110,000 หน่อ จากยอดสั่งจองพันธุ์ จำนวน 200,000 หน่อ ส่วนใหญ่เกษตรกรสั่งจองพันธุ์สวีลูกผสม1 ชุมพรลูกผสม2 และชุมพรลูกผสม60 ซึ่งเนื้อมะพร้าวมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมยังได้จัดทำแปลงต้นแบบการผลิตมะพร้าว จำนวน 10 แปลง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี  แปลงละ 5 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรในพื้นที่ เน้นการจัดการดูแลรักษาแปลงอย่างดี มีการกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธีโดยใช้ปุ๋ยสูตร 13-3-21  จำนวน 4 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ช่วงต้นฤดูฝนและก่อนสิ้นฤดูฝน  และใส่ปุ๋ยโดโลไมท์ปีเว้นปี จำนวน 4 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย จะทำให้ต้นมะพร้าวสมบูรณ์และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 90 %  และเนื้อมะพร้าวหนาขึ้น เป็นช่องทางการเตรียมความพร้อมและช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกร ในการที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 2558” นายสมชายกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง