"หมอยงยุทธ" แนะใช้กรณี "แตงโม" เป็นอุทาหรณ์แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางน้ำ

สังคม
2 มี.ค. 65
15:40
269
Logo Thai PBS
"หมอยงยุทธ" แนะใช้กรณี "แตงโม" เป็นอุทาหรณ์แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"นพ.ยงยุทธ" แนะใช้กรณีการเสียชีวิตของ แตงโม นิดา นักแสดงสาวชื่อดัง เป็นอุทาหรณ์ในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางน้ำ แก้กฎหมายต่างๆ และการดื่มสุราระหว่างขับขี่ยวดยานในน้ำ พร้อมระบุไม่ควรนำมาสร้างดรามาให้คนติดตามข่าว หรือสร้างเรตติ้ง

วันนี้ (2 มี.ค.2565) จากกรณีกระแสดรามาจากการเสียชีวิตของ นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นักแสดงสาวชื่อดัง ซึ่งมีตั้งการข้อสังเกตว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลจากการเสียชีวิตในครั้งนี้ และยังต้องรอกระบวนการยุติธรรมในการสืบค้นหาความจริงจากเรื่องนี้

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า เรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่กลายเป็นว่ามีการนำมาสร้างอารมณ์ ความรู้สึกที่เรียกว่าดรามาให้คนติดตามข่าว

ทั้งนี้ เหมือนเป็นการพยายามทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสร้างเรตติ้ง ให้คนติดตามข่าว ซึ่งมีผลหลายประการ ทำให้เกิดผลเสียอย่างครอบครัวที่ต้องสูญเสีย ปกติจะต้องได้มีโอกาสได้จัดการกับความเศร้าโศกจากการสูญเสียนี้ แต่สื่อกลับละเมิดความเป็นส่วนตัวของครอบครัวตลอด

โดยเข้าไปตั้งประเด็นต่างๆ ซักถาม เชื่อมโยงให้ครอบครัวพูดจากับบุคคลต่างๆ ที่ตั้งประเด็นไว้ว่าเป็นผู้ที่จะกระทำความผิด ซึ่งในแง่ที่ต้องเห็นอกเห็นใจผู้ที่สูญเสีย กลายเป็นเรื่องของการไปใส่อารมณ์ความรู้สึกกันยกใหญ่

ขณะเดียวกัน ทำให้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องที่อยู่ในเรือตกเป็นจำเลยไปเลย มีการตั้งประเด็นต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้ว การที่มีคนตั้งข้อสังเกต สามารถตั้งข้อสังเกตได้ แต่ว่าควรจะอยู่ในการทำงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาข้อสรุป แต่ไม่ใช่ทำให้คนเหล่านี้ตกเป็นจำเลย

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เรื่องที่สำคัญมากๆ คือจริงๆ แล้วมีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับสังคมจากการสูญเสียชีวิตของแตงโม นิดา หลายกรณี อย่างเช่นปัญหาเรื่องอุบัติเหตุจากการจราจรทางน้ำ กฎหมายต่างๆ ซึ่งยังไม่ทันสมัย

หรือการดื่มสุราระหว่างการใช้ยวดยานในน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะทำให้เป็นอุทาหรณ์ให้กับสังคมในการที่แก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก แต่กลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัว อาจจะเป็นการฆาตกรรมหรือไม่ หรือไปถ่ายปัสสาวะหรือไม่ เขาเปิดสูทหรือไม่ และเขาพูดจริงหรือไม่

ซึ่งพวกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ทำให้แทนที่จะทำให้การสูญเสียชีวิตของเขา ทำให้เกิดบทเรียนกับสังคมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา กลับกลายเป็นเรื่องของการสร้างอารมณ์และความรู้สึกกันอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เราใช้เวลาและทรัพยากรในการติดตามเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ถ้าลองคูณจำนวนชั่วโมงที่คนติดตามข่าวนี้ในสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมหาศาล ทั้งที่อยู่ในวิกฤตระดับชาติอย่างน้ำท่วมภาคใต้ โควิด-19 และวิกฤตนานาชาติ ซึ่งเสียเวลากับการติดตามเรื่องดรามา เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในการทำงานของสื่อ

พอสื่อทำแบบนี้ พวกสื่อสังคม ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อหลัก ยิ่งมีการส่งข่าวพวกนี้ หรือว่าติดตามข่าวพวกนี้ ทำหน้าที่เป็นตำรวจติดตามข่าวและเรื่องนี้กันไปยกใหญ่ ยิ่งทำให้บรรยากาศในสื่อเต็มไปด้วยเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก มีคนแสดงความรู้สึกรุนแรงมาก

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า กรณีการสัมภาษณ์ คือการขอขมา จะจัดโดยสื่อและไปขอขมาโดยออกอากาศ ถูกต้องหรือไม่ ควรจะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของเขา และมีการขยายความต่อถึงเรื่องของสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยอีกมาก คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรจะตั้งคำถามว่ากำลังทำอะไรกัน สื่อทำให้คนในสังคมเป็นอะไรกันไป มันไปกันใหญ่

ส่วนคนรับข้อมูลข่าวสาร ตามหลักการคือ 2 ไม่ 1 เตือน โดย 2 ไม่ คือไม่ผลิต และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่สร้างสรรค์ ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าระบบในสื่อสังคมเป็น อัลกอริทึม ยิ่งผลิตยิ่งส่งต่อกัน ยิ่งทำให้ทวีคูณมากขึ้นไปอีก

ส่วน 1 เตือน คือเตือนให้คนเรากลับมาคิดบ้างว่าจริงๆ แล้ว เรื่องนี้ควรจะเป็นประโยชน์กับสังคม ไม่ใช่เป็นเรื่องของที่ไปดรามา หรือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก กับเหตุการณ์อย่างเดียว ต้องพยายามถอดรหัสไปให้เห็นว่าสังคมไทยต้องแก้ไขอะไร

อย่างเช่นกรณีนี้เป็นเรื่องตรงไปตรงมา คือการคมนาคมทางน้ำทั้งหลายที่ถือว่าเมื่อเทียบกับทางบกและทางอากาศแล้ว ยังมีโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงได้มาก แต่ไม่ค่อยเห็นข่าวเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีการโดยสารคมนาคมทางน้ำเป็นแสนครั้ง โอกาสเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งได้ยินข่าวอยู่เสมอ ควรจะเป็นโอกาสที่ได้ทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ปรับปรุงแก้ไข ให้การเสียชีวิตของเขาเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่ให้การเสียชีวิตของเขาเหมือนเป็นละครเรื่องหนึ่งที่ตามดูด้วยความรู้สึกลุ้น รู้สึกมีอารมณ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครั้งแรก! จำลองเหตุการณ์ใช้ "เรือสปีดโบ๊ตลำจริง" ไขคดีแตงโม

แม่เตรียมปรึกษาทนายถอนสิทธิรับผลประโยชน์ประกัน "แตงโม"

"เครื่องจับเท็จ" รู้ได้ยังไง ว่าใครโกหก

เปิดแชต "กระติก" หลังแตงโมตกน้ำ-แซนจำลองเหตุการณ์ท้ายเรือ 

"กรรชัย" เปิดคลิปสุดท้าย "แตงโม" ร้องเพลงมีความสุขก่อนตกเรือ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง