"สธ.-กลาโหม" ถกแผนรับมือ COVID-19 เลวร้ายสุดป่วย 5,000 คน

"สธ.-กลาโหม" ถกแผนรับมือ COVID-19 เลวร้ายสุดป่วย 5,000 คน

"สธ.-กลาโหม" ถกแผนรับมือ COVID-19 เลวร้ายสุดป่วย 5,000 คน

รูปข่าว : "สธ.-กลาโหม" ถกแผนรับมือ COVID-19 เลวร้ายสุดป่วย 5,000 คน

นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมสาธารณสุข -กลาโหม ทำแผนซ้อมแผนรับมือ COVID-19 เลวร้ายเข้าขั้นระบาดระยะ 3 หลังวันนี้ (19 มี.ค.) มีรายงานผู้ติดเชื้ออีก 35 คนรวมผู้ป่วยสะสม 247 คน พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเขต กทม. เร่งทำแผนซักซ้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตั้งแต่ 1,000-5,000 คน

วันนี้ (19 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้หน่วยแพทย์ในสังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมเพิ่มมาตรการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเรียกประชุมซักซ้อม ทำความเข้าใจในแผนแก้ปัญหา หากต้องยกระดับเข้าสู่ระยะที่ 3 ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมดูการทำงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข

ในการติดตามควบคุมโรคไวรัสโคโรนา ตามคำเชิญของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ซึ่งวันนี้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คือนพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรมว.สาธารณสุข

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันนี้พบผู้ป่วยใหม่ติดเชื้อ COVID-19 อีก 35 คน ซึ่งถือเป็นวันที่ 5 ที่มีผู้ป่วยเกินวันละ 30 กว่าคน รวมผู้ป่วยสะสม 247 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ประชุมเตรียมแผนรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการประชุมเพื่อฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อเตรียมแผนรองรับหากมีผู้ป่วยวันละ 1,000-5,000 ต่อวันจะดำเนินการอย่างไร

 

โดยเน้นที่จะบูรณาการซักซ้อมแผนร่วมกันทุกส่วน ทั้งระบบสาธารณสุข ระบบการแพทย์ และการส่งต่อสายการแพทย์ อย่างเป็นระบบแบบแผน ซึ่งเป็นการซักซ้อม เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้รับทราบหน้าที่ และดำเนินการแก้ปัญหาได้สอดคล้อง-ไม่ซ้ำซ้อนกัน และจะทำให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ แม้ว่าเตียงจะมีเพียงพออยู่ แต่ต้องเตรียมมาตรการไว้ เพราะว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 30 คนหากเพิ่มวันละ 1,000-5,000 คนต้องมีแผนรองรับ 

รองปลัด สธ.กล่าวอีกว่า แผนจะมีการกำหนดตั้งแต่ผู้ป่วย 1,000-5,000 คนจะทำเป็นสถานการณ์สมมุติที่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้ยังไม่มีระบบการต่อส่ง ทั้งหมดถ้าทำแผนแล้วเสร็จ พรุ่งนี้ (20 มี.ค.) เป็นมีการซ้อมทำตามแผน อย่างไรก็ตาม เตรียมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงเย็นวันนี้

เบื้องต้น ผู้ป่วยหนักจะให้อยู่โรงพยาบาลใหญ่ทั้งในสังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข ที่มีเครื่องมือพร้อม ส่วนผู้ป่วยไม่หนัก จะส่งไปโรงพยาบาลสนาม ที่กำหนดไว้ตามระดับอาการ 

อ่านข่าวเพิ่ม กทม.เสี่ยงสุดคาดการณ์ติดเชื้อ COVID-19 ทะลุ 2 หมื่นคน

โรงพยาบาลทหารพร้อมรับผู้ป่วย

ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์  โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่าขอให้เชื่อมั่นใจการทำงานรองรับกับสถานการณ์ครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลทหาร มีการปรับเป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรค แต่ถ้ามากกว่านั้นจะจัดโรงพยาบาลสนาม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าฝึกแล้วจะประเมินสถานการณื แต่ละหน่อยเป็นอย่างไร และในการส่งต่อเคลื่อนย้ายคนป่วยตามขีดความสามารถในรองรับ

ในส่วนของทหารมีความพร้อมเรื่องโรงพยาบาลทหาร และโรงพยาบาลสนามที่มีทุกจังหวัด ขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนผู้ป่วย คาดว่าจะต้องตั้งไว้ในค่ายทหาร หรือมณฑลทหารบกก่อน

หากมีสถานที่เอกชนที่มีความพร้อมมากว่าก็จะขยับออกไป วันนี้จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้ และรู้ถึงขีดความสามารถว่าต้องเตรียมการรองรับอะไร นอกจากนี้สนามบินใน กทม.ยังสามารถมาปรับพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามได้ด้วยเช่นกัน แต่ทุกอย่างต้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณา

ทำเนียบเข้มคัดกรองหลังคนติดตาม "อุตตม"ติดเชื้อ

ขณะที่บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล หลังมีข้อมูลยืนยันผลตรวจนายตำรวจติดตาม นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง พบว่าติดเชื้อ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการตามแนวทางที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือการสอบสวนค้นหาผู้สัมผัสและผู้อยู่ใกล้ชิด

และเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อ ทั้งที่ตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการ ทั้ง 5 ชั้น และดำเนินการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อสถานที่ทำงานในพื้นที่ต่างๆ และกำชับเพิ่มเติมเรื่องระบบคัดกรองไข้ การสนับสนุนให้ใส่หน้ากากอนามัย จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

 

ในวันนี้ จะให้หัวหน้าส่วนงานที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ที่ตึกบัญชาการในวันประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งจากหน่วยงานภายในทำเนียบรัฐบาล และจากหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงาน จัดให้มีการรายงานตัว เพื่อให้ได้ข้อมูลบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วย เพื่อแยกกลุ่มและผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้หยุดงานกักตัวเองที่บ้าน 14

ทั้งนี้ ทำเนียบรัฐบาลจะดำเนินการตามมาตรการที่เข้มข้น เพื่อป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส 19 อย่างต่อเนื่องต่อไป พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการยกระดับการรักษาความปลอดภัย และห้ามมิให้ผู้ติดตามที่ไม่มีหน้าที่ในภารกิจขึ้นตึกบัญชาการ ตึกไทยคู่ฟ้า และสถานที่จัดประชุมในทำเนียบรัฐบาล 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

3 โมเดล คาดการณ์ 2 ปีเลวร้ายสุด ไทยอาจป่วยถึง 16.7 ล้านคน

รอแล็บยืนยัน สงขลาพบ 12 คนเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง COVID-19

ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกทะลุ 2.1 แสนคน

 

 

 

 

กลับขึ้นด้านบน