ห่วงคน กทม.กลับภูมิลำเนา เสี่ยงแพร่ COVID-19 ผู้สูงอายุ

ห่วงคน กทม.กลับภูมิลำเนา เสี่ยงแพร่ COVID-19 ผู้สูงอายุ

ห่วงคน กทม.กลับภูมิลำเนา เสี่ยงแพร่ COVID-19 ผู้สูงอายุ

รูปข่าว : ห่วงคน กทม.กลับภูมิลำเนา เสี่ยงแพร่ COVID-19 ผู้สูงอายุ

อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ประชาชนกลุ่มประชาชนในกทม.และปริมณฑล ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาต้องกักตัว และสังเกตตัวเอง 14 วัน เนื่องจากเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถติดต่อในครอบครัว โดยกลุ่มผู้สูงอายุทำให้มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป

วันนี้ (24 มี.ค.2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชนเป็นวงกว้าง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเชื้อดังกล่าวติดต่อได้ทางละอองฝอยของสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอจามในระยะ 1-1.5 เมตร หรือการพูดคุยใกล้ชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งที่อยู่ตามสิ่งของต่างๆแล้วไปโดนเยื่อบุต่าง ๆเช่น ตา จมูก ปาก ประกอบกับการแพร่เชื้อสามารถติดต่อจากผู้ที่ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการได้

หากมีการติดเชื้อในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงรวมถึงผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้ จากการเดินทางกลับของประชาชนที่ทำงานในกทม.และปริมณฑล สู่ภูมิลำเนาพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัด ระหว่างรอเดินทางและระหว่างเดินทาง โดยพบว่าผู้เดินทางจำนวนมากไม่ได้มีการป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้เดินทางและนำไปแพร่กระจายในพื้นที่ปลายทาง และสู่ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทางกรมการแพทย์ จึงได้จัดทำข้อแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

 

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ขอให้ทุกคนแยกตัวออกจากผู้อื่น เพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน โดยระหว่างนั้นให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำสระผมทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที
  • ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และ รักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
  • สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
  •  หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ร่วมกัน
    และหากพบความปกติของร่างกาย เช่น รู้สึกมีไข้ตัวร้อน ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์ โดยสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าไปด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

องค์การอนามัยโลก เตือน COVID-19 ยังระบาดอย่างรวดเร็ว

งานเข้า! คนขับรถเมล์ - รถตู้ติด COVID-19 ผู้โดยสารรายงานตัว

การเคหะฯ ลดค่าเช่าแผงตลาดชุมชนช่วยผู้ได้รับผลกระทบ

 

กลับขึ้นด้านบน