"พาณิชย์" นัดหารือเอกชนผลิตกะทิและแปรรูปมะพร้าว 8 ก.ค.นี้ ปมต่างชาติจะแบนสินค้าไทย หลัง PETA กล่าวหาใช้ลิงเก็บมะพร้าวทารุณกรรมสัตว์ ยืนยันเป็นวิถีชีวิตและการท่องเที่ยว เตรียมนำทูตกลุ่มยุโรปดูกระบวนการผลิตในภาคอุคสาหกรรม ส่วนชาวสวนกังวลผลกระทบ
กรณีองค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) กล่าวหาว่าไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้ห้างในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหลายแห่ง แบนสินค้าในกลุ่มมะพร้าวจากไทย โดยอ้างว่าใช้แรงงานลิง ที่ผ่านการฝึกอย่างทรมาน
วันนี้ (6 ก.ค.2563) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นนี้เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นมาแล้วก่อนหน้านี้ สุดท้ายก็ชี้แจงทำความเข้าใจ แต่เมื่อช่วงนี้ก็เกิดประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยวันที่ 8 ก.ค.นี้ เตรียมหารือผู้ผลิตกะทิ และแปรรูปมะพร้าว เพื่อประเมินผลกระทบและแนวทางรับมือ
การใช้ลิงเก็บมะพร้าว ส่วนใหญ่ประเด็นในเรื่องทางวัฒนธรรมวิถีชีวิต และการท่องเที่ยวมากกว่า ส่วนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ลิงมาเก็บมะพร้าวไม่มีแล้ว
สำหรับผลกระทบจากการระงับการสั่งซื้อกะทิไทยขณะนี้ ยังกระจุกตัวในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีเจ้าของเป็นอียู 3 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ผู้สั่งซื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 อยู่ในกลุ่ม ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย ยังไม่ได้รับผลกระทบ
แต่ละปีไทยผลิตผลิตภัณฑ์มะพร้าว ได้ประมาณ 780,000 ตัน ในจำนวนนี้ 113,000 ตัน ผลิตกะทิ ซึ่งเป็นประเด็นที่ PETA กล่าวหาว่าทารุณกรรมสัตว์ และส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม
นำทูตกลุ่มอียู ดูกระบวนเก็บมะพร้าวภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชี้แจงผู้บริโภค ผู้ประกอบการคู่ค้า เพื่อทำความเข้าใจว่าการนำลิงมาเก็บมะพร้าวเป็นเพียงวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่ด้วยกันมานาน ไม่ได้มีการนำลิงมาทรมาน เพื่อเก็บมะพร้าว เพราะการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต้องใช้มะพร้าวกว่า 1 ล้านลูก
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ จะชี้แจงและทำความเข้าใจให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป รวมทั้งจะนำทูตานุทูตประจำประเทศไทย เข้ามาดูขบวนการผลิตโรงงานการผลิตและการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เข้าใจวิถีชาวบ้านมากขึ้น
ชาวสวนมะพร้าว กังวลหากถูกแบน
ด้านนายพินิจ สุดสงวน เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ในพื้นที่ ม.9 ต.บ้านแพ้ว อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ที่สวนใช้คนขึ้นมะพร้าว ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัว บางคนปีนได้วันละเป็นร้อยต้น โดยค่าแรงต้นละ 15 บาท แต่มีบางคนใช้ตะขอสอยมะพร้าวต้นสูงแค่ไหนก็สอยได้ เป็นความสามารถเฉพาะคน ถ้าหากต่างชาติแบนผลผลิตจากมะพร้าวของไทย ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวสวนอย่างมาก เพราะผลผลิตมะพร้าวสำหรับคนไทยกินในประเทศมันเกินพอ
ถ้าส่งออกไม่ได้ มะพร้าวไทยก็จะมีราคาถูกลง ชาวสวนจะเดือดร้อน เพราะทุกสวนปลูกมาก็ต้องการให้ผลผลิตได้ราคา สำหรับราคามะพร้าวช่วงนี้ก็สิบกว่าบาท ถ้าต่ำไปกว่านี้คงลำบาก
เจ้าของสวนมะพร้าว ยืนยันว่า ไม่เคยใช้แรงงานลิง แต่จะใช้แรงงานคน โดยเฉลี่ยต่อวัน จะปีนขึ้นไปเก็บลูกมะพร้าวได้กว่า 100 ต้น ซึ่ง 1 ต้นจะได้ค่าแรงประมาณ 15 บาท
เช่นเดียวกับ นายนิรันดร์ วงศ์วานิช เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและเป็นครูสอนลิงเก็บมะพร้าว ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ลิงเก็บมะพร้าว เป็น วิถีชีวิตภูมิปัญญา ของคนท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมา อยู่กันแบบครอบครัว ไม่ใช่การทรมาน และใช้ในหมู่เกษตรกรรายย่อย โดย ลิงจะช่วยเก็บเฉพาะมะพร้าวกะทิ เนื่องจากลำต้นจะสูง แต่การแบนรอบนี้ กลับเหมารวมผลิตภัณฑ์มะพร้าวทุกชนิด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งชี้แจงแบนมะพร้าวไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว